เครือข่ายแลนไร้สาย (Wireless LANs)
พื้นฐานเครือข่ายแลนไร้สาย (Wireless LAN Networking Basics)
IEEE ได้นิยามข้อกำหนดเพื่อนำมาใช้กับเครือข่ายแลนไร้สาย ๖ (Wireless LAN: WLAN) ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเรียกว่า IEEE 802.11 ที่ครอบคลุมชั้นสื่อสารฟิสิคัลและดาต้าลิงก์บนแบบจำลอง OSI โดยเครือข่ายแลนไร้สายจัดเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากในขณะนี้ เนื่องจากสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้สายเคเบิลเพื่อการเชื่อมต่ออีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายมิใช่วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครือข่ายแบบมีสาย ทั้งนี้เครือข่ายแบบใช้สายก็ยังมีข้อเด่นบางประการที่เหนือกว่าเครือข่ายแบบไร้สาย ในขณะที่เครือข่ายไร้สายก็มีข้อเด่นคือ การได้สร้างทางเลือกที่สะดวกต่อการเชื่อต่อเครือข่ายของผู้ใช้ โดยไม่ต้องใช้สาย และไม่จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่บนโต๊ะทำงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้งานบริเวณที่อยู่ภายในขอบเขตของคลื่น
อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของเครือข่ายไร้สาย
ฮาร์ดแวร์ของเครือข่ายไร้สายมีหน้าที่เดียวกันกับฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานบนเครือข่ายแลนแบบมีสาย เช่น การ์ดเครือข่ายแบบไร้สายก็มีหน้าที่ในการส่งเฟรมข้อมูลผ่านสื่อกลาง จะมีสิ่งที่แตกต่างกันเพียงประการเดียวก็คือ เครือข่ายแลนแบบมีสายจะใช้สายเคเบิลเป็นสื่อกลางการส่งสัญญาณไฟฟ้าหรือแสง ในขณะที่เครือข่ายไร้สายจะใช้คลื่นวิทยุเป็นสื่อกลางส่งผ่านข้อมูล สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปทั่วไป สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายด้วยการ์ดเครือข่ายไร้สาย ซึ่งมีลักษณะเป็นการ์ดใช้สำหรับเสียบเข้ากับสล็อตบนเมนบอร์ดภายในเคสคอมพิวเตอร์ แต่ในปัจจุบันนี้ เราสามารถใช้การ์ดเครือข่ายแบบไร้สายที่อยู่ในรูปแบบของ USB NIC ที่สามารถเสียบเข้ากับพอร์ต USB ได้ทันที ซึ่งนับได้ว่าช่วยเพิ่มความสะดวกและเคลื่อนย้ายได้ง่าย รวมถึงยังมีการ์ดเครือขายไร้สายชนิดพีซีการ์ดที่นำมาใช้กับโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม สำหรับโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ในปัจจุบัน มักจะผนวกการ์ดเครือข่ายไร้สายมาให้เรียบร้อย
นอกจากการ์ดเครือข่ายไร้สายแล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์แอกเซสฟอยต์ (Access Point : AP) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้เป็นจุดรับส่งสัญญาณ สำหรับแอกเซสพอยต์ชนิดพื้นฐานที่สุดจะทำงานคล้ายกันกับหรือรีพีตเตอร์ ที่ทำงานอยู่ในชั้นสื่อสารฟิสิคัลบนแบบจำลอง OSI แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแอกเซสพอยต์ได้มีการรวมอุปกรณ์หลายอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นสวิตช์ บริดจ์ หรือเร้าเตอร์ชนิดไร้สาย ซึ่งต่างก็ทำงานอยู่บนชั้นสื่อสารที่แตกต่างกัน
วิธีเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking Mode)
การเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย สามารถเชื่อมต่อได้ 2 วิธีด้วยกันคือ
Ad-Hoc Mode
การเชื่อมต่อด้วยวิธีนี้ ในบางครั้งอาจเรียกว่าการเชื่อมต่อแบบ Peer-to-Peer วิธีนี้แต่ละโหนดบนเครือข่ายจะเชื่อมต่อกันโดยตรง การเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบ Ad-Hoc ที่จัดเป็นวิธีการเชื่อมต่อแบบพื้นฐาน ประหยัด โดยมีเพียงการ์ดเครือข่ายไร้สาย และคอมพิวเตอร์เพียง 2 เครื่อง ก็สามารถเชื่อต่อเข้าด้วยกันได้แล้วอย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อด้วยวิธี Ad-Hoc เหมาะสมกับเครือข่ายขนาดเล็ก หรือมีโหนดเชื่อมต่อจำนวนไม่มาก ซึ่งไม่ควรเกินกว่า 10 เครื่อง เนื่องจากจุดประสงค์ของการเชื่อมต่อวิธีนี้ ก็เพื่อแชร์ทรัพยากรร่วมกันเป็นหลัก มิได้มุ่งเน้นด้านระบบความปลอดภัยมากนัก
Infrastructure Mode
การเชื่อมต่อด้วยวิธี Infrastructure WLAN นอกจากต้องมีการ์ดเครือข่ายไร้สายแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แอดเซสพอยต์เป็นจุดรับส่งสัญญาณ ทั้งนี้บนเครือข่ายสามารถมีแอกเซสพอยต์มากกว่า 1 เครื่อง ที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ รวมถึงยังสามารถเชื่อมต่อแอกเซสพอยต์เข้ากับเครือข่ายแบบมีสายเพื่อใช้งานร่วมกันได้สำหรับองค์กรที่มีแผนงานในการติดตั้งเครือข่ายไร้สาย เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับพีซีจำนวนมาก หรือมีความต้องการควบคุมระบบเครือข่ายจากศูนย์กลางผ่านเครือข่ายไร้สาย รวมถึงมีระบบการจัดการความปลอดภัยที่ดีพอ การติดตั้ง WLAN ด้วยวิธี Infrastructure Mode จัดเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่การเชื่อต่อด้วยวิธีนี้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบ Ad-Hoc
ระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking Security)
ปัญหาใหญ่ของเครือข่ายไร้สายที่พบได้คือ เรื่องของระบบความปลอดภัย อันเนื่องมาจากสัญญาณไร้สายที่แพร่ไปตามอากาศ จึงทำให้การตรวจจับว่ามีใครเข้าใช้งานนั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งแตกต่างจากเครือข่ายแบบมีสาย อีกทั้งสัญญาณข้อมูลที่ส่งไปยังมีการดักจับสัญญาณได้ง่าย ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีเข้าแฮกระบบได้อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายแนวทางด้วยกันในการจัดการกับระบบความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วย
ชื่อเครือข่าย (Service Set Identification : SSID)
SSID หรือชื่อเครือข่าย จะมีขนาด 32 บิต ที่จะถูกนำไปบรรจุลงในเฮดเดอร์ของแต่ละแพ็กเก็ตที่ถูกโปรเซสโดยแอกเซสพอยต์ เครื่องลูกข่ายที่ต้องการเชื่อมต่อจะต้องกำหนดชื่อ SSID ให้ตรงกันจึงสามารถเข้าถึงเครือข่ายไร้สายได้ ซึ่งปกติชื่อเครือข่ายหรือ SSID จะถูกกำหนดเป็นค่าปกติ (Default) ที่ติดตั้งไว้มาจากโรงงาน ตัวอย่างเช่น ค่าดีฟอลต์ SSID ของบริษัท Linksys จะใช้ชื่อว่า “linksys” หรือของบริษัท Netgear ก็จะใช้ชื่อว่า “wireless” เป็นต้น ดังนั้นเพื่อมิให้ค่านี้เป็นค่าที่คาดเดาง่าย จึงสมควรตั้งชื่อใหม่ รวมถึงควรเปลี่ยนชื่อล็อกอินและรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด และหากเป็นไปได้ก็ให้ปิดการทำงานของการบรอดคาสต์ชื่อ SSID สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการจัดการระบบความปลอดภัยอย่างง่ายที่สามารถพึงทำได้ เพื่อป้องกันแฮกเกอร์ที่อาจใช้ชื่อ SSID และค่าดีฟอลต์ต่าง ๆ จากอุปกรณ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อลักลอบเข้ามายังเครือข่ายได้
การกลั่นกรองหมายเลขแมคแอดเดรส (MAC Address Filtering)
โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์แอกเซสพอยต์ล้วนสนับสนุนการกลั่นกรองหมายเลขแมคแอดเดรส วิธีการนี้ต้องการจำกัดบุคคลที่เข้าถึงเครือข่าย โดยหมายเลขแมคแอดเดรสที่บันทึกเข้าไปคือแอดเดรสที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายได้ อย่างไรก็ตาม การใช้หมายเลขแมคแอดเดรสในการกลั่นกรองบุคคลที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายนั้น เป็นงานค่อนข้างเสียเวลา อีกทั้งหากเครื่องมีการเปลี่ยนการ์ดเครือข่าย ก็จำเป็นต้องมีการบันทึกเข้าไปใหม่ รวมถึงกณีการรีเซตอุปกรณ์แอกเซสพอยต์ นั่นหมายถึงหมายเลขแมคแอดเดรสที่เคยบันทึกไป ก็จะถูกลบทิ้งไปทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วิธีการกลั่นกรองหมายเลขแมคแอดเดรสสามารถเพิ่มระดับความปลอดภัยยิ่งขึ้นก็ตาม แต่ทั้งสองวิธีข้างต้นก็ยังถือว่าเป็นความปลอดภัยระดับต่ำ เนื่องจากแฮกเกอร์ยังสามารถลักลอบเพื่อค้นหาแมคแอดเดรสที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงเครือข่าย และปลอมตัวลักลอบเข้ามายังเครือข่ายได้ในที่สุด
การเข้ารหัสลับ (Encryption)
สำหรับการจัดการกับระบบความปลอดภัยในขั้นต่อไปก็คือ การเข้ารหัสแพ็กเก็ตข้อมูล การเข้ารหัสลับจะนำแพ็กเก็ตข้อมูลมาผ่านการเข้ารหัสด้วยคีย์ก่อนที่ส่งผ่านไปยังเครือข่ายไร้สาย สำหรับฝั่งรับก็จะมีคีย์ที่ใช้ถอดรหัสลับเพื่อจะได้นำแพ็กเก็ตข้อมูลไปใช้งานต่อไป การเข้ารหัสลับให้กับข้อมูลก่อนที่ส่งผ่านไปยังเครือข่ายไร้สายนั้น จัดเป็นวิธีที่มีระดับความปลอดภัยสูงกว่าสองวิธีข้างต้น เนื่องจากหากแฮกเกอร์ไม่ทราบคีย์ที่นำมาใช้เพื่อการเข้ารหัส ข้อมูลที่ถูกลักลอบไปก็จะนำไปใช้การไม่ได้ สำหรับการเข้ารหัสลับจะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ
1) Wire Equivalency Privacy (WEP)
มาตรฐานการเข้ารหัสลับตามวิธี WEP นั้น จะใช้อัลกอริทึมในการเข้ารหัสลับขนาด 64 บิต แต่ในปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 128 บิต สำหรับเครือข่ายไร้สายที่คาดว่าเป็นเครือข่ายที่เสี่ยงต่อการคุกคาม ควรเลือกการเข้ารหัสลับขนาด 128 บิต ซึ่งจะถอดรหัสได้ยากกว่าอย่างไรก็ตาม การเข้ารหัสลับตามวิธี WEP นั้น ถูกนำมาใช้งานบนอุปกรณ์ตามมาตรฐาน 802.11 ในยุคแรก ๆ แต่วิธีของ WEP ก็ไม่สามารถเข้ารหัสลับให้กับแพ็กเก็ตข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจาก WEP นั้นทำงานอยู่เพียง 2 ชั้นสื่อสารแรกบนแบบจำลอง OSI เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยชั้นสื่อสารฟิสิคัลและดาต้าลิงก์ รวมถึงเป็นวิธีการเข้ารหัสลับแบบสเตติก (Static Encryption) และใช้คีย์รหัสลับเดียวกันนี้กับทุก ๆ โหนดบนเครือข่าย ดังนั้นหากกุญแจที่นำมาใช้เป็นคีย์รหัสลับได้ถูกเปิดเผยให้กับผู้ไม่หวังดีแล้ว ก็สามารถถอดรหัสข้อความเพื่อนำไปใช้งานได้ทันที
2) Wi-Fi Protected Access (WPA)
เนื่องจากการเข้ารหัสลับตามวิธี WEP นั้นมีช่องโหว่และยังคงไม่ปลอดภัย ดังนั้นทางพันธมิตร Wi-Fi จึงได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการเข้าหัสลับ WPA ขึ้นมา ซึ่งในเวลาต่อมา WPA ก็ได้รับการยอมรับและถูกนำมาเป็นมาตรฐานของ IEEE ด้วยการเข้ารหัสลับตามวิธี WPA จะเป็นวิธีแบบไดนามิก (Dynamic Encryption) ซึ่งกุญแจหรือคีย์รหัสลับจะออกให้ต่อคน ต่อเซสซั่น (per-user and per-session) ทำให้ถอดรหัสได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้ารหัสลับตามวิธี WPA นั้นได้ตั้งใจพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งความเป็นไปได้ของระบบความปลอดภัยที่ดี คงต้องรอการพัฒนาต่อไปบนมาตรฐาน IEEE 802.11i ในอนาคตอันใกล้นี้
ความเร็วของเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking Speed)
ความเร็วบนเครือข่าย WLAN ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานเครือข่ายที่นำมาใช้งานบนเครือข่ายไร้สายด้วย เช่น มาตรฐาน 802.11b จะมีความเร็วที่ 11 Mbps ในขณะที่ 802.11g จะมีความเร็วที่ 54 Mbps เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจัยด้านระยะทางก็ส่งผลต่อความเร็ว กล่าวคือหากระยะทางของโหนดที่ติดต่อกับอุปกรณ์แอกเซสพอยต์นั้นอยู่ห่างเกินรัศมีของสัญญาณ ดังนั้นบริเวณนอกขอบเขตรัศมีดังกล่าว อาจติดต่อสื่อสารได้อยู่ แต่ความเร็วจะลดลงซึ่งอาจเหลือเพียง 1 Mbps เท่านั้น หรืออาจติดต่อไม่ได้เลยกรณีขอบเขตที่ไกลออกไป สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ การถูกแทรกแซงด้วยสัญญาณรบกวน เช่น บริเวณใกล้เคียงมีเสารับส่งวิทยุที่ทำให้มีคลื่นวิทยุแทรกแซงเข้ามา รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานตามบ้านทั่วไป เช่น เครื่องทำความเย็น มอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ขอบเขตรัศมีของเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking Range)
หากว่ากันไปแล้ว ขอบเขตรัศมีของอาณาบริเวณที่คลื่นสัญญาณไร้สายสามารถครอบคลุมไปถึงนั้น ยากต่อการกำหนดให้ชัดเจนลงไปได้ ตัวอย่างเช่น เครือข่ายไร้สายจะครอบคลุมอาณาบริเวณประกาณ 150 ฟุต หรือ 300 ฟุต เป็นต้น แต่ความจริงแล้ว รัศมีที่สัญญาณไร้สายสามารถครอบคลุมได้ระยะไกล แต่หากบริเวณนั้นมีตึกอาคาร ซึ่งเป็นคอนกรีต ก็จะส่งผลให้สัญญาณลดทอนลงไป ทำให้สัญญาณครอบคลุมระยะทางไม่ไกลนัก
Wi-Fi
ในช่วงแรก ๆ ของการใช้เครือข่ายแลนไร้สาย ยังพบปัญหามากมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่มาจากแหล่งผลิตมากมายและหลากหลายว่า เมื่อลูกค้าได้ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน จะรับประกันได้อย่างไรว่าจะสามารถสื่อสารร่วมกันได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อตั้งเป็นองค์กรในนาม “พันธมิตร Wi-Fi (Wi-Fi Alliance)” ที่ประกอบไปด้วยบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 175 แห่ง และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มุ่งความสนใจใน 3 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกันคือ 1) เทคโนโลยีมาตรฐาน 802.11 2) การพัฒนา WLAN และ 3) การนำไปใช้งาน
องค์กร IEEE เป็นผู้ที่สร้างมาตรฐานขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้มีหน้าที่ทดสอบผลิตภัณฑ์ พันธมิตร Wi-Fi จึงอาสาเข้ามาทดสอบการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบภายใต้มาตรฐาน IEEE 802.11 นอกจากจะสนับสนุนเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11 แล้ว ยังมีการผลักดันให้ใช้งานทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ตามบ้านพักอาศัย หรือองค์กรธุรกิจ โดยผลิตภัณฑ์เครือข่ายที่ได้รับการทดสอบและรับรองโดย Wi-Fi Alliance จะได้รับตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ Wi-Fi เพื่อรับประกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้งาน
ในยุคแรก ๆ ของการใช้อุปกรณ์เครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11 ที่ไม่ได้ถูกรับรองโดย Wi-Fi ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตแตกต่างกัน อาจไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ และแต่เดิมนั้น Wi-Fi มุ่งความสนใจอยู่บนเทคโนโลยีที่อ้างอิงถึงผลิตภัณฑ์ตามาตรฐาน 802.11b เป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเติมด้วยการครอบคลุมผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานของ 802.11 ทั้งหมด นอกจากนี้แล้ว Wi-Fi ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้งานบนเครือข่ายไร้สาย เช่น การเข้ารหัสลับ WPA ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น รวมถึง WISPr (Wireless Internet Service Provider Roming) ซึ่งอ่านออกเสียงว่า “Whisper” ด้วยการส่งเสริมให้บริษัท ISP เปิดบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายไปยังจุดสนใจตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การติดตั้ง Wi-Fi ฮอตสปอตตามจุดสำคัญต่าง ๆ หรือแหล่งธุรกิจ เป็นต้น
ฮอตสปอต (Hot Spots) เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับสถานที่ในบริเวณเฉพาะ ที่เปิดบริการเครือข่ายไร้สายเพื่อบริการแก่ลูกค้า ตามจุดที่แอกเซสพอยต์สามารถส่งสัญญาณเพื่อการเชื่อมต่อไร้สายได้ โดยปกติมักนำฮอตสปอตไปใช้งานตามจุดพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า และโดยทั่วไปการใช้งานจะถูกจำกัดบริเวณเพื่อเตรียมไว้สำหรับบริการลูกค้าภายในร้านโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันฮอตสปอตบางพื้นที่ ได้เปิดบริการให้ใช้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
มาตรฐานเครือข่ายแลนไร้สาย (Wireless LAN Standards)
ในทำนองเดียวกันกับเทคโนโลยีเครือข่ายอื่น ๆ เทคโนโลยีเครือข่ายแลนไร้สายก็จะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อรองรับ และมาตรฐาน IEEE 802.11 ถือเป็นมาตรฐานของเครือข่ายไร้สายที่กระจายสเปกตรัม (Spread-Spectrum) ด้วยคลื่นวิทยุในการสื่อสารที่หลายย่านความถี่ โดยรากฐานของเทคโนโลยี 802.11 จะใช้คลื่นวิทยุในการแพร่สัญญาณบนย่านความถี่ 2.5 GHz ยกเว้นเพียงแต่มาตรฐาน 802.11a เท่านั้น ที่ใช้ย่านความถี่ที่ 5 GHz
IEEE Standard
RF Band
Speed
IEEE 802.11
Infrared (IR) or 2.4 GHz
1 Mbps or 2 Mbps
IEEE 802.11 a
5 GHz
54 Mbps
IEEE 802.11 b
2.4 GHz
11 Mbps
IEEE 802.11 g
2.4 GHz
54 Mbps
IEEE 802.11 n
5 GHz
100 Mbps
802.11
เป็นมาตรฐานดั้งเดิมที่ในปัจจุบันค่อนข้างหายากแล้ว อุปกรณ์เครือข่ายไร้สายที่ใช้งานบนมาตรฐาน 802.11 นั้นจะมีความเร็วสูงสุดเพียง 2 Mbps และจำกัดระยะทางประมาณ 150 ฟุต อย่างไรก็ตาม 802.11 ก็ได้ใช้ย่านความถี่ 2.4 GHz ที่มาตรฐานปัจจุบันก็ยังคงใช้ย่านความถี่นี้อยู่ รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ใช้ก็จะมีทั้งการเข้ารหัสลับด้วยวิธี WEP และ WPA
802.11a
เปิดตัวใช้งานเมื่อราวปี ค.ศ. 2001 เป็นมาตรฐานที่ใช้ย่านความถี่ 5 GHz ข้อดีของมาตรฐานนี้ก็คือ มีความเร็วสูงถึง 54 Mbps ส่วนข้อเสียก็คือปัญหาเรื่องข้อกฎหมายคลื่นความถี่สูงระดับ 5 GHz ซึ่งในบางประเทศอนุญาตให้ใช้เฉพาะคลื่นความถี่ต่ำเท่านั้น เช่น ประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าและนำมาใช้งาน เนื่องจากได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านนี้เพื่อใช้กับกิจการอื่นมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11a นั้นจะไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันกับเครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11b และ 802.11g ได้
802.11g
เปิดตัวเพื่อใช้งานเพื่อราวปี ค.ศ. 2003 เป็นเทคโนโลยีที่ได้ปรับปรุงความเร็วให้มีการส่งข้อมูลสูงถึง 54 Mbps และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันกับมาตรฐาน 802.11b ได้ เนื่องจากใช้คลื่นความถี่ที่ 2.4 GHz เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นมาตรฐานที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
802.11n
สำหรับมาตรฐาน 802.11n นั้นได้พัฒนาความเร็วด้วยการเพิ่มทรูพุตของมาตรฐาน 802.11 ให้มีความเร็วสูงขึ้นถึง 100 Mbps ถึงแม้ว่ามาตรฐานนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในเวลานี้ แต่การรับส่งข้อมูลจะอยู่ในย่านความถี่ 5 GHz ดังนั้นจึงมีความเข้ากันได้กับมาตรฐาน 802.11a
มาตรฐาน
802.11
802.11a
802.11b
802.11g
ความเร็ว
2 Mbps
54 Mbps
11 Mbps
54 Mbps
ระยะทางสูงสุด
150 feet
150 feet
300 feet
300 feet
ย่านความถี่
2.4 GHz
5 GHz
2.4 GHz
2.4 GHz
ความปลอดภัย
SSID, MAC Address Filtering, WEP, WPA
SSID, MAC Address Filtering, WEP, WPA
SSID, MAC Address Filtering, WEP, WPA
SSID, MAC Address Filtering, WEP, WPA
ความเข้ากันได้
802.11
802.11a
802.11b
802.11b, 802.11g
วิธีการกระจายสเปกตรัม
DSSS
DSSS
DSSS
DSSS
วิธีการเชื่อมต่อ
Ad-Hoc/Infrastructure
Ad-Hoc/Infrastructure
Ad-Hoc/Infrastructure
Ad-Hoc/Infrastructure
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น